หนังสือเรียนภาษาดัตช์ด้วยตัวเอง สำหรับมือใหม่ (ตอนที่ 1)

แชร์บทความคลิกตรงนี้ได้เลยค่ะ :)

เรียบเรียง โดยครูแนน

ในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่ามีหนังสือเล่มไหนบ้าง ที่เหมาะสำหรับนำมาใช้เรียนภาษาดัตช์ด้วยตัวเอง ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นไปจนถึงการเตรียมตัวสอบอินเบอร์เฆอริ่งระดับ A2 นะคะ โดยจะขอเน้นไปที่คนที่เพิ่งย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์หรือกำลังจะย้ายมา เพราะในบทความนี้จะไม่มีการพูดถึงการเตรียมตัวสอบ mvv ใด ๆ ทั้งสิ้น โดยในช่วงแรก จะขอพูดถึงความสำคัญของระดับภาษากับการเรียนภาษาดัตช์ก่อนนะคะ จากนั้นค่อยไปเจาะลึกถึงประเภทของหนังสือเรียน-เตรียมสอบ และการเลือกใช้หนังสือกันค่ะ

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน วัตถุประสงค์ของบทความนี้คือเพื่อแนะนำหนังสือสำหรับเรียนด้วยตัวเอง โดยเป็นความคิดเห็นและประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนเองซึ่งผ่านการลองผิดลองถูกในการเรียนดัตช์ด้วยตัวเองมาพอสมควร ซื้อหนังสือผิด ๆ ถูก ๆ กว่าจะเริ่มเข้าใจการเลือกใช้หนังสือแต่ละแบบแต่ละเล่มอย่างทุกวันนี้ ก็เรียกได้ว่า คำแนะนำที่ทุกคนจะได้รับจากบทความนี้ ก็คือสิ่งที่ผู้เขียนอยากจะบอกกับตัวเองในอดีตนั่นเองค่ะ

➤ ระดับของภาษาดัตช์

เคยมีคนถามว่า เพิ่งย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์ กำลังจะเริ่มเรียนภาษาดัตช์เพื่อสอบ B1 แต่อยากประหยัดเวลาและประหยัดเงิน เลยจะข้ามไปเรียนระดับ B1 เลย ทำได้มั้ย คำตอบคือ เป็นไปได้ยาก ไม่ควร อย่าหาทำค่ะ เพราะว่า ระดับของภาษาดัตช์นั้นได้มีการแบ่งออกเป็นนีโฟ (niveau) ตามความยากง่ายของเนื้อหาและทักษะของผู้ใช้อยู่แล้ว โดยจะแบ่งเป็นระดับ A1-A2-B1-B2-C1-(C2) ค่ะ

และภาษาดัตช์ที่ผู้อพยพอย่างเรา ๆ เรียนกันตอนนี้จะเรียกว่า NT2 หรือ ภาษาดัตช์ในฐานะภาษาที่สอง หรือ ภาษาดัตช์สำหรับคนที่ใช้ภาษาดัตช์เป็นภาษาที่สอง(ไม่ใช่ภาษาแม่)นั่นเองค่ะ ดังนั้น NT2 ไม่ใช่ระดับภาษานะคะ แต่ NT2 คือชื่อเรียกรวมของภาษาดัตช์ที่คนต่างด้าวเรียนกันค่ะ (ส่วน NT1 ก็คือภาษาดัตช์สำหรับให้คนที่ใช้ภาษาดัตช์เป็นภาษาแม่เรียนค่ะ) 

ทีนี้ สำหรับใครที่สอบภาษาดัตช์เพื่อการขอวีซ่า mvv ที่ไทยผ่านแล้ว ดีใจด้วยนะคะ แต่อยากจะบอกไว้อย่างหนึ่งว่า สิ่งที่คุณเรียนและสอบมาจากที่ไทยนั้น ยังไม่ใช่ระดับ A1 ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ค่ะ จริงอยู่ที่หลาย ๆ แหล่งข้อมูลบอกว่า การสอบ mvv คือการสอบภาษาดัตช์ระดับ A1 แต่จากการไปช่วยสอนภาษาดัตช์(ระยะสั้น)ที่โรงเรียน NT2 แถวบ้าน ทำให้ผู้เขียนตระหนักว่า การปูพื้นฐานภาษาดัตช์จาก 0 เมื่อย้ายมาอยู่ที่นี่นั้น มีความสำคัญมากแค่ไหน ในขณะที่การกระโดดข้ามไปเรียนคอร์ส A2 ทันทีที่ย้ายมาถึงเนเธอร์แลนด์ อาจส่งผลให้เกิดช่องโหว่ของความรู้ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาเมื่อเรียนไต่ระดับสูงขึ้นไปในอนาคต

ซึ่งพอลองมาพิจารณาดูแล้ว ช่วงแรกที่ผู้เขียนย้ายมา ก็ประสบปัญหาที่ว่าเริ่มเรียนเองแล้วรู้สึกเหมือนเรียนวนเป็นวงกลม เหมือนจะได้ A2 แต่ก็ยังไม่ใช่ เหมือนจะดีเป็นบางทักษะแต่ก็มีหลายอย่างที่ไม่เข้าใจ ผลลัพธ์ก็คือ ต้องเสียเวลาอีกหลายเดือนหลังจากสอบ A2 เสร็จ ในการไล่เปิดอ่านหนังสือ/หาข้อมูลเพื่อเติมเต็มช่องโหว่ทางความรู้ที่ตัวเราเองฝืนกระโดดข้ามมาในตอนแรก

แต่ถ้าถามว่ามีมั้ยที่คนเราย้ายมาแล้วสามารถข้ามไปลงคอร์สหรือใช้หนังสือเล่ม A2 เรียนได้เลย มีค่ะ ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ทั้งนี้เป็นเพราะว่าบางคนมีทักษะทางภาษาที่สองและสามอยู่แล้ว จึงนำมาปรับใช้กับการเรียนภาษาดัตช์ได้ไม่ยากเย็นนัก ดังนั้นถ้าใครคิดว่าตัวเองมีความรู้ความสามารถในการใช้พจนานุกรมแปลศัพท์และใช้เว็บไซต์ค้นคว้าแหล่งข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ก็อย่ากลัวที่จะลองใช้หนังสือระดับ A2 เริ่มเรียนค่ะ มันเป็นไปได้อยู่แล้ว แค่ไม่ใช่กับทุกคน

➤ การสอบอินเบอร์เฆอริง (การสอบบูรณาการพลเมืองดัตช์)

ในที่นี้จะขอพูดถึงแบบคร่าว ๆ นะคะ เพื่อใช้เป็นความรู้ประกอบการเลือกหนังสือในส่วนถัด ๆ ไป สำหรับการสอบอินเบอร์เฆอริง ณ ปัจจุบัน ตามวันที่เขียนบทความนี้ ประกอบไปด้วย 7 ส่วน และยังคงบังคับการสอบ 4 ทักษะขั้นต่ำสุดที่ระดับ A2* โดย 7 วิชาที่ว่านี้ ได้แก่:

  1. Participatieverklaring
    หรือบางคนเรียกว่าวิชาอบรม เพราะว่าต้องไปอบรมถึงจะได้ใบผ่าน คือเมื่อเราย้ายมาอยู่ที่เนเธอร์แลนด์เอาชื่อเข้าบ้านเรียบร้อยแล้ว ทางอำเภอหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบการอบรมจะติดต่อเรามาเอง เพื่อให้เราไปอบรบและจ่ายเงิน หรือบางที่ก็จ่ายเงินก่อนอบรม อันนี้แล้วแต่ระบบการทำงานของแต่ละอำเภอค่ะ โดยการอบรมเพื่อให้ได้ใบประกาศนี้จะมีเวลาให้จัดการ 1 ปีต้องทำเสร็จ ถ้าหากใครที่เพิ่งย้ายมา แล้วรู้สึกว่ารอคนติดต่ออบรมนานเกินไปแล้ว ให้ลองโทรไปสอบถามโดยตรงค่ะ ถามให้แน่ใจว่าเราต้องรอ หรือเราต้องติดต่อไปที่หน่วยงานไหนเองกันแน่
  2. Oriëntatie op de Nederlandse Arbeidsmarkt (ONA)
    บางคนเรียกย่อ ๆ ว่า “โอน่า” หรือวิชาสมัครงาน เพราะหัวใจหลักของการสอบวิชานี้คือการแสดงให้กรรมการเห็นว่าเราสมัครงานเป็น เรารู้จักวิธีหางานทำที่นี่ และเราสามารถสัมภาษณ์งานด้วยภาษาดัตช์เบสิคได้ 


คนบางกลุ่มยังคงสอบวิชานี้แบบเต็มรูปแบบอยู่ นั่นคือเริ่มจากการเก็บข้อมูลงานที่อยากทำแล้วนำมากรอกพอร์ตโฟลิโอ (ในที่นี้คือ Resultaatkaarten) จากนั้นส่งพอร์ตให้กรรมการตรวจ ถ้าพอร์ตผ่านก็ต้องไปสอบสัมภาษณ์ต่อ ซึ่งเป็นการเข้าไปพูดคุยกับกรรมการแบบตัวต่อตัว เป็นภาษาดัตช์ล้วน ใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที โดยกรรมการจะถามเราเกี่ยวกับสิ่งที่เรากรอกไปในพอร์ตโฟลิโอนั่นแหละค่ะ ค่าสมัครสอบ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 40 ยูโร

แต่ถ้าใครไม่สะดวกจะหาข้อมูลเองและไม่อยากสอบสัมภาษณ์ ก็มีอีกทางเลือกหนึ่ง นั่นคือการไปลงคอร์สเรียน ONA ตามโรงเรียนสอนภาษาดัตช์ที่ได้รับการรับรองจาก DUO หรือเวลาเสิร์ชหาโรงเรียน ดูที่เป็น school met het Blik op Werk-keurmerk ซึ่งคอร์สที่ว่านี้จะต้องมีระยะเวลาการเรียน 64 ชั่วโมง ในการเรียนครูผู้สอนจะให้ความรู้เกี่ยวกับตลาดแรงงานในเนเธอร์แลนด์ และสอนเรากรอก Resultaatkaarten ด้วยรึเปล่า ผู้เขียนไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ ๆ คือ เมื่อเราเรียนคอร์สนี้ครบเวลาแล้ว ทางโรงเรียนก็จะส่งข้อมูลให้กับทาง DUO เพื่อพิสูจน์ว่าเราได้ผ่านการเรียนคอร์สนี้แล้ว ก็เป็นอันจบสิ้นค่ะ เราไม่ต้องไปสอบสัมภาษณ์

หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือ การมีงาน(ขาว)ทำแบบมีสัญญาจ้างและมีหลักฐานการรับเงินเดือนเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ทาง DUO จะดูที่ชั่วโมงงานค่ะ ว่าพอหรือไม่ ก็คือ 48 ชั่วโมงต่อเดือน


ข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.inburgeren.nl/geen-examen-doen/u-werkt-in-nederland.jsp

  1. Lezen (A2)
    สอบทักษะการอ่าน ไม่ว่าจะเป็นอ่านอีเมล ใบปลิว ประกาศโฆษณาต่าง ๆ ฉลากยา ฯลฯ ศัพท์ที่จะเจอในข้อสอบจะวนเวียนเกี่ยวกับเรื่องใกล้ตัว บ้าน งาน โรงเรียน ชีวิต
  2. Luisteren (A2)
    สอบทักษะการฟัง โดยที่เราจะได้ดูวิดีโอ/ฟังเสียงสนทนาสถานการณ์ต่าง ๆ แล้วต้องเข้าใจเนื้อหาและสามารถเลือกคำตอบที่ถูกต้องได้ ศัพท์ที่จะเจอในข้อสอบจะวนเวียนเกี่ยวกับเรื่องใกล้ตัว บ้าน งาน โรงเรียน ชีวิต
  3. Schrijven (A2)
    สอบทักษะการเขียน เราจะต้องเขียนอีเมล กรอกแบบฟอร์ม และเขียนบทความอิสระขนาดนั้น โดยการเขียนที่ว่านี้จะมีความยาวแค่ไม่เกิน 3-4 ประโยคค่ะ แต่เราต้องแต่งประโยคให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ เรียงตำแหน่งคำถูกต้อง ใช้รูปกาลของกริยาที่ตรงกับช่วงเวลาของเนื้อหา เป็นต้น ศัพท์ที่จะเจอในข้อสอบจะวนเวียนเกี่ยวกับเรื่องใกล้ตัว บ้าน งาน โรงเรียน ชีวิต
  4. Spreken (A2)
    สอบทักษะการพูด โดยแบ่งเป็นการฟังคำถาม/ดูรูปภาพแล้วบันทึกเสียงพูดตอบคำถาม (2 ประโยค หรือประโยคยาวที่มีคำเชื่อม) และการดูวิดีโอบทสนทนาแล้วเลือกการโต้ตอบที่ถูกต้องที่สุด ศัพท์ที่จะเจอในข้อสอบจะวนเวียนเกี่ยวกับเรื่องใกล้ตัว บ้าน งาน โรงเรียน ชีวิต
  5. Kennis van de Nederlandse Maatschappij (KNM)

หลายคนเรียกว่าวิชาสังคม หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “กาเอ็นเอ็ม” การสอบตัวนี้จะทดสอบความรู้ความเข้าใจของเรา เกี่ยวกับประเทศเนเธอร์แลนด์ในหลากหลายแง่มุม ทั้งภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การเมือง การศึกษา การทำงาน ระบบสวัสดิการ การอยู่อาศัย และการใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์ โดยในการสอบนั้น เราจะได้ดูวิดีโอสถานการณ์และต้องเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุด บางครั้งมันก็เหมือนจะถูกทุกข้อ แต่เราต้องหาข้อที่ถูกที่สุดให้ได้ เรียกว่าต้องวิเคราะห์กันพอสมควร ไม่สามารถอ่านหนังสือแล้วจำไปสอบทั้งดุ้นได้

*กฎหมายการสอบอินเบอร์เฆอริงแบบใหม่จะเริ่มบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2022 จะส่งผลให้การสอบบางทักษะขยับขึ้นไปเป็นบังคับระดับ B1 นั่นคือ คนที่ย้ายมาอยู่หลังวันที่ 1 มกราคม 2022 จะต้องสอบวิชาอบรม, สังคม, โอนา ตามปกติ แต่จะต้องสอบการฟัง, การพูด, การอ่าน และการเขียน ในระดับ B1 นั่นเอง แต่การเปลี่ยนกฎหมายการสอบใหม่นี้ ก็มาพร้อมกับบริการของทางอำเภอด้วย เพราะตามหลักการแล้วทางอำเภอจะเป็นคนจัดการเรื่องเรียนเรื่องสอบให้กับคนที่ย้ายมาอยู่ใหม่ ดังนั้นจึงอย่าเพิ่งตื่นตระหนกกับข่าวนี้จนเกินไปและเกิดท้อถอยในการเรียน อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเป็นภาษาดัตช์ที่ https://www.rijksoverheid.nl/onderwerpen/inburgeren-in-nederland/nieuwe-wet-inburgering หรือติดตามข่าวสารจากเฟสบุ๊คเพจข้อมูลสำหรับคนไทยในเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีอยู่มากมายหลายเพจ

➤ หนังสือเรียนภาษาดัตช์เพื่อการเรียน 4 ทักษะและการสอบอินเบอร์เฆอริง (A2)

สำหรับการเรียนเพื่อให้ได้ความรู้ภาษาดัตช์ระดับ A2 และเพื่อสอบอินเบอร์เฆอริงนั้น เราจะใช้หนังสือหลัก ๆ 3-4 เล่ม แบ่งออกเป็น 

  • หนังสือเล่มหลัก (0-A1, A1-A2)
  • หนังสืออ่านวิชา KNM
  • หนังสืออ่านวิชา ONA 

หนังสือเรียนภาษาดัตช์ในปัจจุบันจะมาพร้อมกับ “รหัส” ที่ด้านในของปกหนังสือ เพื่อใช้ในการล็อกอินเข้าไปทำแบบฝึกหัดออนไลน์ หรือดูเฉลย ดาวน์โหลดไฟล์เสียง-ลิสต์คำศัพท์ ฯลฯ และรหัสที่ว่านี้ จะมีอายุการใช้งานตั้งแต่ 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง หรือนานกว่านั้น ดังนั้น การซื้อหนังสือมือสองมาใช้ ย่อมหมายถึงการหมดโอกาส ใช้ทรัพยากรณ์ออนไลน์ของหนังสือเล่มนั้นด้วย เพราะเราไม่มี “รหัสที่ใช้ได้” ต่อให้รหัสในเล่มมือสองที่ซื้อมา “ยังมีอายุเหลือ” ก็ตามทั้งนี้เป็นเพราะ รหัสแต่ละชุดจะผูกกับอีเมลและพาสเวิร์ดของคนที่สมัครใช้คนแรก ดังนั้นถ้าเราอยากจะใช้ทรัพยากรณ์ออนไลน์ของหนังสือมือสอง เราก็ต้องมีอีเมลและพาสเวิร์ดของคนที่ขายให้เราด้วย ซึ่ง เอาจริง ๆ ไม่มีใครเขาส่งต่อกันหรอกค่ะ บางสำนักพิมพ์มีรหัสใหม่ขายแยกให้ แต่ส่วนใหญ่ก็มักมีราคาพอ ๆ กับหนังสือมือหนึ่งเลยค่ะ ไหน ๆ ก็จะเรียนแล้ว ลงทุนซื้อหนังสือเรียนมือหนึ่งไปเลยค่ะ ดีที่สุด นอกจากจะได้ใช้ของใหม่เอี่ยมอ่องแล้ว เรายังจะได้ใช้ทรัพยากรณ์ออนไลน์ของหนังสือเล่มนั้นอย่างเต็มที่อีกด้วย แต่ก็มีบางเล่มที่ใช้แบบมือสองก็เพียงพอ จะเป็นเล่มไหน อ่านต่อนะคะ

→ หนังสือเล่มหลัก คือหนังสือที่ใช้เรียนทักษะภาษาทั้ง 4 ฟัง พูด อ่าน เขียน และไวยากรณ์ โดยหนังสือเล่มหลักจะแบ่งออกเป็นระดับ(นีโฟ)ละหนึ่งเล่ม คือ เมื่อเราเรียนจบเล่มหลักเล่มหนึ่งแล้ว เราก็จะได้ความรู้ที่สอดคล้องกับระดับนั้น ๆ  เช่น หนังสือเรียน A1 ใช้เรียนภาษาดัตช์ตั้งแต่ 0 ไปจบที่ระดับ A1, หนังสือเรียน A2 ใช้เรียนภาษาดัตช์ตั้งแต่ระดับ A1 ไปจบที่ระดับ A2 เป็นต้น สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมของหนังสือเล่มหลัก
เราจะมาลงลึกกันในส่วนถัดไปนะคะ


→ หนังสืออ่านวิชา KNM ทั้งตลาดตอนนี้มีเล่มเดียวค่ะ คือ Welkom in Nederland (ISBN: 9789046904886) เล่มนี้ขอบอกว่า “ต้องมี” นะคะ เพราะเรา “ต้องอ่าน” ก่อนจะไปสอบวิชา KNM ค่ะ มีคนเคยบอกว่าไม่จำเป็นต้องอ่าน แค่ฟังออกแปลออกก็สอบได้แล้ว อันนั้นเขาอาจมีความสามารถพิเศษในการคิดวิเคราะห์สูงมาก ปล่อยเขาไปค่ะ ทางที่ดีและทางที่ปลอดภัยที่สุดในการสอบวิชานี้คือ อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างน้อย 2 รอบเพื่อเก็บคำศัพท์และเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาทั้งเล่ม แล้วฝึกทำข้อสอบในเว็บ https://www.inburgeren.nl/ หรือข้อสอบเก่า ๆ ตาม youtube แล้วค่อยไปสอบค่ะ และอย่างที่บอกไว้ก่อนหน้านี้ การสอบวิชานี้ไม่สามารถใช้วิธีจำทั้งเล่มแล้วไปสอบได้ แต่เราต้องเข้าใจเนื้อหาทั้งเล่ม แล้วนำความเข้าใจและข้อมูลจากเล่มนี้ไปวิเคราะห์หาคำตอบในข้อสอบค่ะ และพิเศษสำหรับเล่มนี้นะคะ ใช้มือสองหรือของฟรีได้เลยค่ะ ไม่จำเป็นต้องซื้อมือหนึ่ง เพราะจากการใช้งานจริงพบว่า ทรัพยากรณ์ออนไลน์ไม่ได้ช่วยเตรียมพร้อมการสอบเท่าไหร่ หนักไปทางช่วยทบทวนความรู้กับคำศัพท์ซะมากกว่า ดังนั้น ไม่ค่อยจำเป็นค่ะ ถ้าเจอมือสองถูก ๆ เอามาอ่านได้เลยค่ะ เน้นอ่านเก็บศัพท์และทำความเข้าใจค่ะ 


แต่ถ้าใครรู้สึกว่าอ่านเล่มเดียวยังไม่พร้อม ก็มีหนังสือติวสอบให้ค่ะ ในที่นี้ขอแนะนำเล่ม TaalCompleet KNM (ISBN: 9789490807252) เล่มนี้ใช้เดี่ยว ๆ ไม่ได้ เราจะต้องอ่านเล่มบนให้จบก่อน แล้วมาติวข้อสอบด้วยเล่มนี้ค่ะ เพราะตัวเล่มบางมากถึงมากที่สุด แต่รหัสที่มากับหนังสือ จะพาเราไปฝึกทำข้อสอบค่ะ มีคนกระซิบมาว่าแนวข้อสอบค่อนข้างคล้ายของจริง จริงมั้ยลองพิสูจน์ดูนะคะ



→ หนังสืออ่านวิชา ONA
สำหรับคนที่ไม่มีโอกาสได้ทำงานและไม่ได้ลงเรียนคอร์ส ONA 64 ชั่วโมง ก็ต้องทำพอร์ตโฟลิโอส่งเองและไปสอบสัมภาษณ์นะคะ แต่อย่าเพิ่งกลัวไป เพราะเรามีหนังสือตัวช่วยค่ะ ในตลาดตอนนี้มีอยู่หลายเล่มพอสมควร แต่จากการลองหามาอ่านเองแล้ว ขอฟันธงว่าเล่มนี้ดีที่สุดค่ะ TaalCompleet ONA (ISBN: 978-94-90807-69-6) เนื้อหาของเล่มนี้ประกอบด้วยแบบฝึกหัดการเขียนและการพูดที่เกี่ยวข้องกับการหางานและสมัครงาน, บทความเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับตลาดแรงงานในเนเธอร์แลนด์, คำศัพท์เฉพาะที่ควรรู้เกี่ยวกับการหางานและสมัครงาน และแนวทางการกรอก Resultaatkaarten 

➤ หนังสือเล่มหลัก

หนังสือเล่มหลัก คือ หนังสือที่เราใช้เรียนภาษาดัตช์ในระดับนั้น ๆ (A1, A2, B1, B2, C1) โดยจะเรียนทุกอย่าง ตั้งแต่การออกเสียง คำศัพท์ การฝึกพูดสนทนา การฟัง การเขียน การอ่าน และไวยากรณ์ ซึ่งหนังสือเล่มหลักพวกนี้ก็มีหลายหลักสูตร หลายสำนักพิมพ์ค่ะ เราจะต้องเลือกหาหลักสูตรที่เราอ่านแล้วเข้าใจง่าย และยิ่งถ้าใครคิดจะเรียนด้วยตัวเอง ก็ควรหาหลักสูตรที่เหมาะกับการเรียนด้วยตัวเองมาใช้ค่ะ

ซึ่งหลักสูตรที่ผู้เขียนกล้ายืนยันว่าเหมาะสำหรับใช้เรียนภาษาดัตช์ด้วยตัวเองที่สุด ณ ตอนนี้ คือเล่มหลักสูตร TaalCompleet ค่ะ โดยใครอยากเริ่มเรียนปูพื้นฐานใหม่ก็ให้เริ่มเรียนที่เล่ม TaalCompleet A1 (ISBN: 9789490807221) จบแล้วค่อยต่อด้วยเล่ม TaalCompleet A2 (ISBN: 978-94-90807-24-5)โดยระยะเวลาในการเรียนต่อเล่ม(แบบมีวินัยกับตัวเอง) ไม่เกิน 2-3 เดือนค่ะ ดังนั้น รวมระยะเวลาการเรียนปูพื้นฐานตั้งแต่ 0 ไปจนถึงจบเล่ม A2 ถ้าตั้งใจจัดเวลาให้ตัวเองได้ ก็ไม่เกินครึ่งปีค่ะ 

แต่ถ้าใครรู้สึกว่าเรียนมาเองจนมีพื้นฐานพอสมควรแล้ว อยากเริ่มที่เล่ม TaalCompleet A2 เลย ก็ทำได้ค่ะ แต่เพื่อให้แน่ใจ ลองเข้าไปทำบททดสอบของทางสำนักพิมพ์ดูได้ที่ลิงก์นี้นะคะ https://kleurrijker.nl/toets/instaptoets/story_html5.html (มีจับเวลาตรงมุมบนขวานะคะ) พอได้ผลการทดสอบแล้ว เขาจะบอกเราว่าควรเริ่มเรียนที่เล่ม A1 หรือ A2 ค่ะ

จุดเด่นของหลักสูตร TaalCompleet คือ เน้นแบบฝึกหัดที่สามารถทำคนเดียวได้ เนื้อหาและคำศัพท์มีการไต่ระดับความยากแบบไม่ก้าวกระโดด คือเรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อยไป ง่ายไปหายาก แบบฝึกหัดออนไลน์เยอะ การจัดหน้ากระดาษดูน่าสนใจ ไม่จืดชืดไป และไม่การ์ตูนเกินไป และมีการทำตำหนิ ** กำกับแบบฝึกหัดที่คล้ายกับข้อสอบหรือใช้เป็นแนวทางฝึกทำข้อสอบได้ดี ทำให้เรารู้ว่าควรใส่ใจกับแบบฝึกหัดไหนเป็นพิเศษบ้าง

ในการเรียนภาษาดัตช์ด้วยตัวเองนั้น ก็ยังคงมีส่วนที่เราจำเป็นต้องมีผู้ช่วย นั่นคือส่วนของการพูด อย่างในหนังสือ TaalCompleet จะมีแบบฝึกหัดที่เป็นประโยคให้เราพูดตาม ถ้าเข้าไปทำในคอมเราจะสามารถกดฟังเสียงตัวอย่างแล้วบันทึกเสียงตัวเองพูดตาม และเปิดฟังเทียบกับตัวอย่างได้ แต่ถ้าเป็นแบบฝึกหัดที่ต้องตอบคำถาม เราก็ต้องขอความร่วมมือคนที่บ้านให้มาช่วยฟังดูว่าเราตอบใช้ได้แล้วหรือยัง 

อย่างไรก็ดี ด้วยราคาที่ถือว่าแพงเป็นอันดับต้น ๆ ของตลาดตอนนี้ ทำให้หลายคนมองข้ามและไม่คิดจะซื้อมาใช้ ผู้เขียนจึงอยากแนะนำให้ลองหาจากห้องสมุดมาเปิดอ่านดูก่อน เพื่อประกอบการตัดสินใจ หรือจะลองสั่งซื้อมาเปิดดูเลยก็ได้ (อย่าเพิ่งใช้รหัส) ถ้าหากพบว่าไม่ชอบจริง ๆ เราก็มีสิทธิ์ส่งหนังสือคืนและรับเงินคืนได้ค่ะ

นอกจากหนังสือเล่มหลักของหลักสูตร TaalCompleet แล้ว ก็ยังมีอีกหลายหลักสูตรหลายตระกูลที่เราจะพอคุ้นชื่อหรือเคยเห็นผ่านตากันไปบ้าง ซึ่งต้องบอกก่อนว่า หนังสือเล่มหลักจากหลักสูตรอื่น ๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ก็สามารถนำมาใช้เรียนด้วยตัวเองได้เช่นกัน เพียงแต่มันจะ “เหมาะสมน้อยกว่า” TaalCompleet อาจจะด้วยแบบฝึกหัดที่เน้นการฝึกร่วมกับเพื่อนในห้องมากกว่า หรือคำอธิบายไวยากรณ์ที่มีในหนังสือน้อยเพราะเน้นให้ครูอธิบายมากกว่า เป็นต้น ผู้เขียนจะพยายามนำเสนอหนังสือแต่ละเล่มเพื่อให้ทุกคนเห็นภาพมากที่สุดค่ะ


→หนังสือ De opmaat (ISBN: 9789024431991) หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรคลาสสิคค่ะ นั่นคือเก่าและดี จุดเด่นคือเนื้อหาอัดแน่นทั้งแบบฝึกหัดและคำอธิบายไวยากรณ์ ที่สำคัญคือราคาเป็นมิตรค่ะ แต่เล่ม De opmaat จะใช้เรียนตั้งแต่ระดับ 0 ไปจบที่ A2 ได้เลยในเล่มเดียว แปลว่า เนื้อหาย่อมมีความรวบรัดก้าวกระโดดอยู่บ้างนั่นเอง อาจจะเหมาะกับคนที่มีพื้นฐานการเรียนภาษาที่สองที่สามมาแล้ว หรือคนที่ค่อนข้างหัวไวกับการเรียนภาษาค่ะ เล่มนี้เพิ่งมีการเปลี่ยนปกใหม่ไปเมื่อไม่นานนี้ ปรับโฉมให้น่าอ่านมากขึ้นโดยการเพิ่มรูปภาพสีสันสวยงาม ไม่จืดชืดชวนให้เบื่อง่ายแบบปกเก่า (ISBN: 9789085067238) ตัวหนังสือใหญ่อ่านง่าย และยังคงมีสรุปไวยากรณ์พร้อมแบบฝึกหัดเสริมให้ที่ท้ายเล่มเหมือนเดิมค่ะ แต่ เล่มนี้ค่อนข้างเหมาะใช้ในห้องเรียนแบบมีครูและมีเพื่อนร่วมฝึกมากกว่าค่ะ ยังไงลองเปิดดูตามห้องสมุดก่อน ชอบไม่ชอบยังไงลองตัดสินใจดูนะคะ

 

หนังสือ Van Start (ISBN: 9789089533265) เล่มนี้เป็นหนังสือจากตระกูลเดียวกันกับ De opmaat ค่ะ สามารถใช้เรียน 0-A2 ได้จบในเล่มเดียวเช่นกัน แต่จัดเป็นเล่มที่เรียนเอง “ง่ายกว่า” เพราะเนื้อหาของเล่มนี้ออกแบบมาให้อ่านเองแล้วเข้าใจได้ง่าย ด้วยการไต่ระดับความยากที่ไปแบบก้าวเล็ก ๆ และเน้นให้ทำซ้ำเยอะ ๆ มีรูปภาพพอสมควรแต่เป็นขาว-ดำ 

สำหรับหนังสือหลักสูตร opmaat (De opmaat และ Van start) ยังมีจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือไปจากคำอธิบายไวยากรณ์และแบบฝึกหัดเสริม นั่นก็คือ ส่วนที่เรียกว่า Taalhulp ซึ่งมีอยู่ในเนื้อหาทุกบท ในส่วนนี้จะเป็นตัวอย่างประโยคที่สามารถใช้พูดได้ในชีวิตประจำวันตามสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งการถามและการตอบ โดยจะมีเสียงตัวอย่างให้ฟัง แล้วเราก็หัดพูดตามค่ะ

 

  หนังสือ Nederlands in gang (ISBN: 9789046905609) เล่มนี้นิยมใช้สอนตามโรงเรียนที่เป็นคอร์สอินเทนซีฟ(จบไว)ค่ะ เพราะเนื้อหามีความสั้นกระชับ เรียนจบบทได้ไว (ทำให้คอร์สสั้น ราคาก็ถูกลงหน่อย คนก็ยอมควักจ่ายง่าย) และเราสามารถใช้เล่มนี้เล่มเดียวในการเรียนจาก 0-A2 ได้เลยเช่นกัน แต่ต้องเตือนตัวโต ๆ ก่อนว่า หนังสือของหลักสูตรนี้ เหมาะกับคนที่พื้นฐานภาษาที่สอง(โดยเฉพาะอังกฤษ)ดีอยู่แล้วและต้องค้นคว้าเรียนเองได้ดีพอสมควร เพราะต้องอ่านเยอะ ทำแบบฝึกหัดคำศัพท์และไวยากรณ์เยอะมากค่ะ แต่ส่วนที่ดูจะอ่อนลงไปหน่อยคือคำอธิบายไวยากรณ์ในเล่มค่ะ ไม่ค่อยเยอะ ต้องเข้าไปดูในเว็บของหนังสือหรือค้นคว้าข้างนอกเพิ่มเอง ฉะนั้น ถ้าใครที่ภาษาอังกฤษไม่แข็งและไม่ขยันค้นคว้าเอง ไม่แนะนำให้ใช้เล่มนี้ค่ะ

 หนังสือ Taaltalent deel 1 (ISBN: 9789046907559) และ Taaltalent deel 2 (ISBN: 9789046907566) หลักสูตรนี้แยกเป็นเล่ม 0-A1 และ A1-A2 ค่ะ คือเริ่มเรียนจากเล่ม deel 1 จบแล้วค่อยต่อเล่ม deel 2 ก็จะได้ความรู้ถึงระดับ A2 พอดี ในส่วนของเนื้อหานั้น ตัวผู้เขียนเองเคยเปิดอ่านสมัยที่เป็นฉบับเก่า บอกตามตรงว่าไม่ค่อยปลื้ม เพราะความน้อยของมันค่ะ รูปแบบทั่วไปจัดเนื้อหาเหมือนกับหลักสูตร in gang เลย เพียงแต่ง่ายกว่าและน้อยกว่า แต่ล่าสุดที่มีการปรับปรุงใหม่ (หน้าปกไม่มีรูปคนนะคะ) เขาก็เคลมมาว่าใส่ใจเรื่องไวยากรณ์มากขึ้น รวมถึงเรื่องวัฒนธรรม การศึกษา และตลาดแรงงานในประเทศค่ะ ซึ่งส่วนท้ายนี้อยู่ในหัวข้อ ‘Op het werk’ ซึ่งจะสอนเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมในที่ทำงานค่ะ ใครสนใจลองหามาเปิดดูได้นะคะ เผื่อว่าจะชอบ 

หนังสือ Nederlands voor buitenlanders (ISBN: 9789024422388) เล่มเดียวเรียนจบ 0-A2 แต่อันนี้เป็นเล่ม Tekstboek คือเล่มที่ใช้เรียน นอกจากนี้ยังมีเล่มแบบฝึกหัด Oefenboek (ISBN: 9789024423132) เพิ่มมาต่างหากด้วย ขอบอกว่า เล็กและแพงค่ะ รีวิวสั้น ๆ หลักสูตรนี้ขลังและคลาสสิคก็จริง แต่ดูเหมือนว่าเดิมทีเขาจะพัฒนาหลักสูตรนี้ขึ้นมาสำหรับต่างชาติที่ย้ายมาทำงานระดับสูงหรือนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยระดับสูง มากกว่าค่ะ โดยจะเน้นไปที่การอ่านบทความที่มีศัพท์ยาก ๆ และการชวนพูดคุยเกี่ยวกับหัวข้อต่าง ๆ แต่จะไม่เน้นการอธิบายไวยากรณ์ค่ะ เน้นให้รู้ศัพท์และกล้าพูดซะมากกว่า ซึ่งการกล้าพูดก็นับเป็นข้อดีค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราจะได้ฝึกพูดเยอะก็ต่อเมื่อไปเรียนกับครูเท่านั้น ครูเขาจะมีวิธีสอนเราเองค่ะ แต่ถ้าใช้เรียนเองที่บ้าน คิดว่าคงได้แค่เรียนคำศัพท์เท่ ๆ ที่บางครั้งก็ยากเกินชีวิตประจำวันค่ะ ไม่ค่อยแนะนำ 

หนังสือ Stap nieuw – 1 (ISBN: 9789460303302) และ Stap nieuw – 2 (ISBN: 9789460304224) เหมือนกับ Taaltalent ค่ะ คือแยกเล่ม A1 กับเล่ม A2 นีโฟละเล่ม หลักสูตรนี้ค่อนข้างคล้ายคลึงกับหลักสูตร TaalCompleet ในเรื่องของเนื้อหาและแบบฝึกหัดค่ะ ก็คือ อัดแน่น โดยหลักสูตรนี้จะมีคำอธิบายไวยากรณ์ค่อนข้างละเอียดรวมไว้ให้ท้ายเล่มด้วย ด้านในมีรูปภาพประกอบเยอะมาก ส่วนใหญ่เป็นรูปการ์ตูนค่ะ สีสันหน้ากระดาษจัดว่าฉูดฉาดมาก หลักสูตรนี้ยังคงขายหนังสือพร้อมแผ่นซีดีค่ะ โดยจะมีมาเล่มละ 4 แผ่นด้วยกัน แต่ใครไม่สะดวกจะใช้แผ่นซีดีแล้ว ก็สามารถเข้าไปดาวน์โหลดไฟล์เสียงได้ฟรี ๆ ที่เว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ค่ะ 

หนังสือ Code+ Deel 1 (ISBN: 9789006978308) และ Code+ Deel 2 (ISBN: 9789006978339) แยกเรียนเล่ม 0-A1 และ A1-A2 ค่ะ หลักสูตรนี้จัดเป็นหลักสูตรคลาสสิคอีกหนึ่งหลักสูตรค่ะ และฉบับเปลี่ยนปกใหม่นี้ก็มาพร้อมรูปภาพประกอบสีสันสวยงาม การจัดหน้าดูไม่วุ่นวาย เรียนได้สงบ ๆ ท้ายเล่มมีสรุปไวยากรณ์และเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมวัฒนธรรมค่ะ ส่วนตัวผู้เขียนไม่เคยใช้หลักสูตรนี้ แต่เท่าที่เข้าไปดูในเว็บของสำนักพิมพ์มา คิดว่าเนื้อหาดีมากค่ะ เพียงแต่ว่า มันเหมาะกับการใช้เรียนในห้องเรียนที่มีกลุ่มเพื่อนมากกว่า ใครอยากเอามาเรียนเอง ลองหามาเปิดดูประกอบการตัดสินใจก่อนซื้อนะคะ 

สำหรับหนังสือเล่มหลัก เวลาเลือกหามาใช้เรียนเอง ให้ลองดูเนื้อหาของหนังสือก่อนว่าอ่านแล้วรู้สึกว่าเข้าใจง่ายมั้ย และลองพิจารณาพื้นฐานความรู้ของตัวเองและความพร้อมด้านวินัยกับเวลาที่เราจะทุ่มให้กับมันด้วย เพราะถ้าเราคิดแค่อยากเรียนจบไว ๆ เลยเอาเล่มรวบรัด 0-A2 มาใช้ แต่เราไม่พร้อมที่จะทุ่มเทเวลาให้กับมัน ก็รอดยากค่ะ 

ส่วนวิธีการใช้หนังสือเรียน เพื่อการเรียนภาษาระดับ A2 และการเตรียมสอบ ขอแนะนำแบบนี้นะคะ เริ่มจากเรียนเล่มหลักก่อน แล้วแทรกเสริมด้วยเล่มสังคม จากนั้นเตรียมตัวสอบ ไปสอบให้ผ่าน แล้วถ้าจำเป็นต้องสอบ ONA ก็อ่านเล่ม TaalCompleet ONA พร้อมกรอก Resultaatkaarten ยื่นส่งพอร์ตโฟลิโอ พอร์ตผ่านแล้วก็ไปสอบสัมภาษณ์ให้ผ่านค่ะ

ตัวอย่างแผนการเรียนด้วยตัวเองในอุดมคติของผู้เขียน แบบใช้หลักสูตร TaalCompleet 

  1. TaalCompleet A1
  2. TaalCompleet A2 + Welkom in Nederland (อ่านควบคู่กันไปได้เลยค่ะ สลับ ๆ กัน)
  3. ฝึกทำข้อสอบ
  4. ไปสอบสังคม, อ่าน, ฟัง, เขียน, พูด (เรียงลำดับตามถนัดนะคะ) 

และถ้าต้องสอบ ONA

  1. TaalCompleet ONA
  2. ทำพอร์ตโฟลิโอส่ง
  3. ไปสอบสัมภาษณ์

ส่วนวิชาอบรมก็หาทางนัดคิวอบรมกับอำเภอหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทำให้เสร็จในเวลา 1 ปีแรกที่ย้ายมานะคะ

แหล่งหาซื้อหนังสือ

เลขมาตรฐานสากลสำหรับหนังสือ (ISBN) ที่อยู่ต่อท้ายชื่อหนังสือทุกเล่ม สามารถใช้ในการค้นหาหนังสือได้นะคะ เอาเลขนั้นไปเสิร์ชในเว็บห้องสมุด หรือเว็บร้านหนังสือที่ชอบไปประจำ หรือที่นิยมกันที่สุดคือ สั่งซื้อผ้าเว็บ bol.com ค่ะ หนังสือมือหนึ่งถ้าซื้อมาเปิดดูแล้วไม่ถูกใจ ทำเรื่องส่งคืนได้ ได้เงินคืนค่ะ และถ้าซื้อมือสอง(จากร้านที่มีอ็อพชั่นส่งคืนฟรี) ก็ทำได้เช่นกันค่ะ

อีกทางเลือกคือเว็บ https://www.bookmatch.nl/ เป็นเว็บหาซื้อหนังสือเรียนมือสองค่ะ (มือหนึ่งก็มีค่ะ) ระบบของร้านนี้ค่อนข้างดี ตรงที่ทางร้านจะกันเงินที่เราจ่ายไปไว้ก่อน รอจนกว่าเราจะได้หนังสือ พอเราได้หนังสือแล้วเข้าไปกดยืนยันและรีวิวคนขาย ทางร้านถึงจะโอนเงินต่อให้คนขายตัวจริงค่ะ

เว็บสำหรับซื้อหนังสือเรียนมือหนึ่ง นอกจากจะมี https://www.bol.com/nl/ ที่ซื้อได้สะดวกคืนสบายแล้ว ก็ยังมีเว็บของสำนักพิมพ์ด้วยค่ะ ดูที่หน้าปกว่าเป็นสำนักพิมพ์ไหน แล้วเข้าไปค้นที่เว็บนั้นได้เลยค่ะ เช่น

สำนักพิมพ์ boom –> https://www.nt2.nl/nl/ (มีหนังสือของสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่วางขายด้วย)

สำนักพิมพ์ kleurrijker –> https://kleurrijker.nl/

สำนักพิมพ์ coutinho –> https://www.coutinho.nl/

สำนักพิมพ์ acco –> https://www.accouitgeverij.nl/

ในตอนต่อไป เราจะไปดูหนังสือ NT2 ที่เป็นหนังสือเรียนเสริมกันค่ะ ทั้งหนังสือเสริมไวยากรณ์, หนังสือเสริมทักษะและเตรียมสอบ, พจนานุกรม และหนังสืออ่านนอกเวลา

เจอกันบทความหน้านะคะ

ครูแนน (Chutima Stel)


แชร์บทความคลิกตรงนี้ได้เลยค่ะ :)

1 thought on “หนังสือเรียนภาษาดัตช์ด้วยตัวเอง สำหรับมือใหม่ (ตอนที่ 1)”

  1. ขอบคุณสำหรับการรีวิวที่ละเอียดมากค่ะ

Comments are closed.

Shopping Cart
Scroll to Top