แชร์ประสบการณ์เป็นอาสาสมัครช่วยสอนดัตช์ในคอร์ส A2

แชร์บทความคลิกตรงนี้ได้เลยค่ะ :)

ความในใจจากครูดัตช์ และปัญหาของนักเรียนที่เพิ่งย้ายมาอยู่ใหม่

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2018 แนนพยายามที่จะเรียนภาษาดัตช์ระดับ B2 ด้วยตัวเอง แต่ไม่สำเร็จ จึงตัดสินใจสมัครเรียนที่โรงเรียนแถวบ้าน แต่สาขาโรงเรียนในเมืองที่อยู่กลับไม่มีคอร์ส B2 เขาจึงแนะนำให้แนนไปเรียนที่สาขาในเมืองข้าง ๆ ซึ่งต้องนั่งรถบัส 25 นาที และเดินขึ้นเนินอีก 15 นาที 

คอร์สนี้สอนด้วยหลักสูตร TaalSterk B2 ซึ่งหลาย ๆ คนคงรู้ดีว่าเป็นหลักสูตรที่เรียนจบช้ามาก แต่ละเอียดดีมาก ซึ่งก็เป็นไปตามนั้นค่ะ คุณครูประจำคอร์สสอนดีมาก แต่หลังจากผ่านไป 30 ชั่วโมง เราก็เพิ่งจะจบกันแค่บทที่ 2 จากทั้งหมด 8 บท แนนไปต่อไม่ไหวค่ะ ทั้งจ่ายต่อไม่ไหว และเดินทางหลังเลิกงานไม่ไหว 

แต่ถึงแม้จะเรียนไม่จบคอร์ส(จบเล่ม) แนนก็ได้ของแถมเป็นประสบการณ์ช่วยสอนในโรงเรียนเดียวกันนี้ค่ะ

เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่ง ครูประจำคอร์ส B2 มาสอนไม่ได้ เขาเลยให้ครูประจำคอร์ส A2 มาสอนแทน ซึ่งครูคนนี้สอนประจำอยู่ที่สาขาในเมืองที่แนนอาศัยอยู่ ในวันที่เขามาสอน เราได้พูดคุยกันช่วงพักเบรคและครูเขาก็เปรยขึ้นมาว่ามีนักเรียนไทยเพิ่งมาใหม่คนนึง กำลังมีปัญหา เพราะว่าเขามาใหม่ และแฟนของเขาดันทุรังให้เข้าเรียนคอร์ส A2 เลย เพราะไม่อยากเสียงเงินเพิ่มในการเริ่มเรียนจาก 0 นั่นทำให้เขาต้องไปเจอกับนักเรียนผู้อพยพที่เรียนกับโรงเรียนนี้มาตั้งแต่ 0 และกลายเป็นว่าเขาตามเพื่อนไม่ทัน แต่ก็ทนเรียนไปแบบเงียบ ๆ 

แนนเลยได้โอกาสขออาสาไปช่วยประกบตัวสอนพี่คนไทยคนนั้น และครูเขาก็ตอบตกลงด้วยความยินดีอย่างมาก

ในห้องเรียน A2 ณ ตอนนั้น มีนักเรียนประมาณ 7-8 คน ครูประจำคอร์สใช้หลักสูตร TaalCompleet A2 ในการสอน โดยในแต่ละวัน เขาจะแบ่งการเรียนเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือเรียนในหนังสือเล่มหลัก A2 หรือเล่ม Welkom in Nederland แล้วหลังพักเบรคก็จะแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม เช่น เล่นเกมทายศัพท์ ฝึกพูดตอบคำถาม หรือไม่ก็ให้ฝึกทักษะแยกรายบุคคุล นั่นคือ ครูจะดูพัฒนาการของแต่ละคน แล้วจัดโปรแกรมให้ว่า วันนี้คนนี้ต้องฝึกทำข้อสอบอ่าน หรือคนนั้นต้องฝึกทำข้อสอบฟัง เป็นต้น

หน้าที่หลักของแนนในช่วงแรกคือ ประกบตัวพี่คนไทยคนนั้น อธิบายเพิ่มเป็นภาษาไทยในส่วนที่เขาฟังครูไม่ออก และแยกตัวออกไปฝึกเพิ่มเรื่องการออกเสียง ก่อนอื่นขอบอกก่อนว่า พี่คนไทยคนนั้นมีความขยันมาก และมีกำลังใจในการเรียนสูง ถึงแม้ว่าจะตามไม่ทันเพื่อนในห้อง แต่เขาไม่เคยท้อค่ะ เขามีหนังสือ มีครูคอยชี้แนะ มีโปรแกรมการเรียนที่วางแผนไว้ให้ เขารู้ว่าตัวเองจะรู้เพิ่มขึ้นในทุก ๆ วันที่เขามาเรียน 

กลับมาที่งานช่วยสอนนะคะ เมื่อผ่านไปได้สองครั้ง ครูประจำคอร์สก็มอบหมายงานให้แนนเพิ่ม โดยจัดนักเรียนครึ่งห้องมาให้แนนรับผิดชอบนำกิจกรรมเรียนคำศัพท์ ก็คือพอแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มที่เล็กลง ทุกคนก็จะได้รับความใส่ใจและได้โอกาสในการฝึกและเรียนรู้เพิ่มมาขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าแนนต้องด้นสดเองหรอกนะคะ เพราะครูเขาจะมีแนวทางการสอนและเอกสารประกอบมาให้ และจะบรีฟงานก่อนว่าควรทำยังไง พูดยังไง

การช่วยสอนเป็นประสบการณ์ที่สนุกและได้ความรู้มากค่ะ แต่ที่แนนชอบที่สุดคือการได้พูดคุยกับครูประจำคอร์สแบบเปิดอก

ทุกครั้งที่แนนไปช่วยสอน แนนจะหาโอกาสเข้าไปคุยกับครูเพื่ออัพเดทพัฒนาการของพี่คนไทยคนนั้น บอกสิ่งที่เขาต้องการให้ครูรู้ และครูก็จะบอกแนนว่าควรช่วยเหลือยังไง นอกจากนี้ เรายังได้คุยกันเกี่ยวกับปัญหาหลักของคนที่เพิ่งย้ายมาใหม่ด้วย นั่นคือ ความเข้าใจผิดที่ว่า การสอบผ่านจากประเทศตัวเองตอนขอวีซ่า มีค่าเท่ากับได้ภาษาระดับ A1 แล้ว ซึ่งครูดัตช์คนนี้พูดกับแนนเองเลยว่า เขาเจอมาหลายคน ทางโรงเรียนเจอปัญหานี้จากนักเรียนหลาย ๆ ประเทศ ที่พอย้ายมาถึง ก็มาสมัครและแสดงเจตจำนงเลยว่าอยากลงเรียนคอร์ส A2 ต่อเลย (บางคน โรงเรียนปฏิเสธไม่ได้ เพราะอาจจะทำข้อสอบวัดระดับผ่าน และข้อสอบก็อาจจะง่ายเกินไป) 

ผลที่ตามมาก็คือ นักเรียนหลายคนไปต่อไม่ไหว เรียนด้วยเล่ม A2 ไม่ไหว และสุดท้ายก็ต้องย้ายไปเรียนกับกลุ่มเริ่มต้น ที่เรียนด้วยเล่ม A1 และทางโรงเรียนก็กำลังพิจารณากรณีของพี่คนไทยคนนั้นอยู่เหมือนกัน เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่นักเรียนอย่างเดียว แต่การที่ในชั้นเรียนมีนักเรียนที่่ระดับความรู้แตกต่างกันเกินไป ครูที่สอนอยู่จะสังเกตได้และรู้สึกลำบากใจอย่างมาก ครูที่แนนไปช่วยสอนบอกกับแนนเองเลยว่า เขาลำบากใจมากที่ไม่สามารถให้ความใส่ใจกับพี่คนไทยคนนั้นได้อย่างเพียงพอ แต่นั่นก็เป็นเพราะงานหลักของเขาคือสอนระดับ A2 ให้คนที่มีพื้นฐานระดับ A1 แน่นมาแล้ว และกำลังเตรียมพร้อมไปสอบ inburgering ไม่ใช่ต้องมาสอนย้ำเรื่องเบสิคของระดับ A1 ซึ่งแนนก็เข้าใจเป็นอย่างดี เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เริ่มต้นหัดสอนดัตช์ออนไลน์ให้คนไทย แนนก็พบว่ามีนักเรียนหลายคนที่เรียนแบบก้าวกระโดดก่อนจะมาเจอแนน และแทนที่เราจะได้เรียนกันตามเป้าหมาย เช่น A2 หรือเตรียมสอบ ก็กลายเป็นว่า เราต้องมาช่วยกันหาอุดรอยรั่วความรู้ที่เขาไม่ได้เรียนหรือไม่ได้ใส่ใจตั้งแต่ตอนต้น ทำให้เสียเวลา เสียเงิน เสียพลังงาน และกำลังใจกันทั้งสองฝ่าย 

แนนไปช่วยสอนอยู่ประมาณ 2 เดือนค่ะ ก็ขอหยุด เพราะแนนเองก็เริ่มต้นสอนเองที่บ้าน และกรณีของพี่คนไทยคนนั้นมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะท้ายที่สุดแล้ว พี่เขาก็จัดตารางงานประจำของตัวเองได้ลงตัวและตัดสินใจย้ายไปเรียนกลุ่ม A1 ค่ะเรียกว่าจบแบบ happy ending

สิ่งที่แนนเขียนนี้ ไม่ได้มีเจตนาที่จะโน้มน้าวให้ทุกคนที่ย้ายมาใหม่ “ต้อง” ไปลงเรียนคอร์ส 0-A1 ทุกคน เพราะแนนเข้าใจดีว่า หลายคนที่มีพื้นฐานการเรียนภาษาที่สองมาก่อน จะสามารถลุยเรียนภาษาดัตช์ด้วยตัวเองได้ หรือสามารถเริ่มเรียนระดับ A2 ที่โรงเรียนได้แบบไร้ปัญหา แต่แนนแค่อยากให้ทุกคนพิจารณาปรับทัศนคติใหม่ ว่าการเรียนการสอบจากเมืองไทย (และหลาย ๆ ประเทศ อ้างอิงจากคำพูดของคุณคนนั้น) ไม่ได้เทียบเท่ากับภาษาดัตช์ระดับ A1 ค่ะ ดังนั้น การที่คุณย้ายมาถึงแล้วลงเรียน A2 หรือซื้อหนังสือ A2 มาอ่านเลย อาจทำให้เกิดช่องว่างหรือรอยโหว่ทางความรู้ได้ ซึ่งจะกลายมาเป็นปัญหาในภายหลัง เมื่อคุณเรียนระดับสูงขึ้นไป เพราะแนนกล้ายืนยันเลยว่า ถ้าพื้นฐาน A1 A2 คุณไม่แน่น การเรียน B1 ก็จะกลายเป็นความท้าทายที่ดูจะเกินความสามารถของคุณค่ะ คุณอาจจะเรียนได้ แต่ก็จะใช้เวลาและความพยายามมากเกินความจำเป็นแน่นอน

สำหรับใครที่เพิ่งย้ายมาใหม่ และไม่แน่ใจว่าตัวเองมีความรู้ระดับไหนแล้ว แนนแนะนำให้ลองเข้าไปทำแบบทดสอบวัดระดับ A1/A2 ของหลักสูตร TaalCompleet ดูนะคะ ตัวแนนเองใช้หลักสูตรนี้ในการสอนแบบตัวต่อตัวด้วย และคิดว่าเป็นหนึ่งในหลักสูตรที่ดีที่สุดในท้องตลาดตอนนี้ค่ะ

ลิงก์สำหรับเข้าไปทำข้อสอบวัดระดับ >>> https://kleurrijker.nl/toets/instaptoets/story_html5.html
(ข้อสอบเยอะ ใช้เวลานาน มีจับเวลาทำ ซื่อสัตย์กับตัวเองอย่าเปิดพจนานุกรมนะคะ)

แนนหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้หลาย ๆ คนมองคอร์สเรียน 0-A1 ในมุมที่ต่างออกไปนะคะ และขอให้กำลังใจคนที่เพิ่งย้ายมา ได้มีแรงที่จะทุ่มเทเวลาและความพยายามในการเรียนรู้พื้นฐานให้ดีตั้งแต่เริ่มต้นค่ะ

เก็บตกการเรียน-การสอนในคอร์สภาษาดัตช์ตามโรงเรียน

  • นักเรียนจากทวีปที่เราก็รู้ว่าทวีปไหน จะชอบคุยกันในห้องด้วยภาษาตัวเองและเสียงจะค่อนข้างดังมากค่ะ บางคนก็มีมารยาทแต่บางคนก็ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่
  • นักเรียนจากทวีปเดียวกันนี้ จะมีความสามารถในการพูดได้เร็วและคล่องแคล่วมาก แต่ถ้าถามแนน แนนฟังไม่ค่อยออกค่ะ เขาพูดไวแต่ออกเสียงไม่ชัด และแกรมม่ามาบ้างไม่มาบ้างค่ะ ถ้าใครเจอแบบนี้ในชั้นเรียนตัวเอง ก็อย่าเสียกำลังใจนะคะ ถ้าแนวทางของเราคือการพูดช้าชัดและมีแกรมม่า ก็ตั้งใจเรียนของเราไปค่ะ คนเรามีบุคลิกไม่เหมือนกัน อย่าเปรียบเทียบกับคนอื่นจนเราไม่กล้าเป็นตัวของตัวอง
  • ในช่วงหน้าร้อน นักเรียนจากตะวันออกกลางและแอฟริกาใต้ จะมีกลิ่นตัวที่เฉพาะตัวมาก ๆ ค่ะ ขอเตือนให้เตรียมยาดมไปด้วย เพราะแนนกับพี่คนไทยคนนั้นต้องคอยดมยาไปเรียนไปค่ะ เรียกได้ว่า พอช่วยสอน 1 ชั่วโมงครึ่งเสร็จ กลับถึงบ้านแล้วไมเกรนถามหาเลยค่ะ มันเหม็นจนปวดหัวจี๊ดเลยจริง ๆ

ไว้เจอกันใหม่ในบทความหน้านะคะ
Chutima Stel


แชร์บทความคลิกตรงนี้ได้เลยค่ะ :)

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Shopping Cart
Scroll to Top