หนังสือเรียนภาษาดัตช์ด้วยตัวเอง สำหรับคนที่ย้ายมาอยู่ใหม่ (ตอนที่ 2)

แชร์บทความคลิกตรงนี้ได้เลยค่ะ :)

เรียบเรียง โดยครูแนน

จากบทความตอนที่แล้ว เราได้รู้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับระดับภาษา, การสอบอินเบอร์เฆอริง และการเลือกหนังสือเพื่อใช้เรียนและเตรียมสอบกันไปแล้วนะคะ ในบทความนี้ เราจะมาดูเพิ่มเติมกันว่า นอกจากหนังสือเรียนเล่มหลัก หนังสือสังคม และหนังสือ ONA แล้ว ยังมีเล่มไหนอีกบ้างที่เราสามารถนำมาใช้เรียนเสริมหรือพัฒนาทักษะภาษาของเราได้ รวมถึงการเตรียมสอบด้วย!

➤ หนังสือเสริมไวยากรณ์
หนังสือเสริมไวยากรณ์ใช้ยังไง? หลายคนเมื่อได้รับคำแนะนำให้หาหนังสือเสริมไวยากรณ์มาใช้ จะมีความคิดเห็นในทำนองที่ว่า “ไม่เอาหรอก ซื้อมาก็ไม่ได้อ่าน ของเก่า(เล่มหลัก)ยังอ่านไม่หมดเลย” แต่ในความเป็นจริงแล้ว หนังสือเสริมไวยากรณ์ ไม่ได้มีไว้เปิดอ่านรวดเดียวจบค่ะ แต่มีไว้ใช้เสมือนตำรา ที่เอาไว้เปิดหาข้อมูลหรืออ่านเสริมในเรื่องที่เรายังไม่กระจ่างจากหนังสือเล่มหลัก เช่น ถ้าในหนังสือเล่มหลักเราเรียนถึงเรื่องกาลสมบูรณ์แล้ว แต่รู้สึกว่ายังไม่เข้าใจดี เราก็มาเปิดหนังสือเสริมไวยากร์ในเรื่องกาลสมบูรณ์แล้วดูคำอธิบายและทำแบบฝึกหัดเพิ่มเติมในนั้นได้ค่ะ สำหรับบทความตอนสุดท้ายนี้ ก็มีหนังสือเสริมไวยากรณ์มาแนะนำให้ 5 เล่มด้วยกัน โดยจะขอเริ่มที่เล่มที่(ส่วนตัว)คิดว่าเหมาะกับการใช้เรียนด้วยตัวเองในระดับ A1-A2 ที่สุด ณ ตอนนี้ค่ะ

→ หนังสือ Van A tot Zin (ISBN: 9789490807306) จากชื่อของหนังสือก็พอจะเดาได้นะคะว่ามันเกี่ยวกับอะไร A คือพยัญชนะ ส่วน Zin คือประโยค นั่นคือหนังสือเล่มนี้จะสอนเราตั้งแต่ชุดพยัญชนะ การออกเสียง พยางค์ ชนิดคำ ไปจนถึงโครงสร้างประโยคค่ะ (นี่คือไวยากรณ์ค่ะ) ที่บอกว่าเล่มนี้เหมาะสำหรับการใช้เรียนด้วยตังเองตั้งแต่เริ่มต้นก็เพราะว่า เนื้อหาของมันจะจำกัดและโฟกัสอยู่ที่ระดับความรู้ A1-A2 ค่ะ เรียนกันจบเล่มแบบเน้น ๆ ก็จะได้ความรู้ไวยากรณ์ในระดับที่เพียงพอสำหรับใช้สอบและใช้ในชีวิตประจำวันแบบเบื้องต้นได้พอดี ในแต่ละบทจะมีคำอธิบายหนึ่งหน้า และแบบฝึกหัดเฉพาะของเรื่องนั้น ๆ อีกหนึ่งหน้าค่ะ และรหัสที่ให้มากับเล่ม สามารถใช้ล็อกอินเข้าไปดูเฉลยได้ และปริ๊นท์ใบงานเสริมมาทำเพิ่มได้อีกด้วย (แบบฝึกหัดในเล่มจะเน้นสำหรับอ่านทำคนเดียวค่ะ ส่วนของออนไลน์ที่ปริ๊นท์เพิ่มได้ก็จะมีกิจกรรมกลุ่มแทรกมาบ้าง เพราะเล่มนี้ก็ใช้เรียนในห้องเรียนได้ด้วยเหมือนกัน)  

→ หนังสือ Klare taal! (ISBN: 9789024436699) เล่มนี้ใหญ่และคลาสสิคค่ะ ความรู้ครอบคลุมตั้งแต่ระดับ A1-C1 อธิบายเป็นเรื่อง ๆ พร้อมมีแบบฝึกหัดและบททดสอบให้ทำ ด้านหลังของหนังสือมีเฉลยให้ และฉบับตีพิมพ์ใหม่จะมีรหัสให้เข้าไปทำอ่าน-ทำแบบฝึกหัดออนไลน์ได้ค่ะ เหตุผลที่ไม่ค่อยแนะนำเล่มนี้มากเท่าเล่ม Van A tot Zin เพราะมองว่ามีหัวข้อเยอะเกินจำเป็นอัดอยู่ในเล่มเดียว อาจส่งผลต่อสมาธิในการเรียนได้ เพราะเรามักจะอยากดูอยากรู้ว่าต่อไปจะเป็นเรื่องอะไรและยากแค่ไหนจนลืมโฟกัสในเรื่องพื้นฐานที่เราควรจะรู้ค่ะ อีกอย่างคือเล่มนี้อาจมีคำอธิบายที่สรุปรวบรัดไปบ้าง ยังดีที่ตัวอย่างให้มาเยอะพอสมควร มีรูปภาพประกอบน่ารัก ๆ ด้วย จะบอกว่ามือสองหาซื้อยากมากค่ะ ไม่ค่อยมีคนปล่อยขาย ยังไงลองหายืมจากห้องสมุดมาดูก่อน ค่อยตัดสินใจซื้อนะคะ 

 

→ หนังสือ Zichtbaar Nederlands (ISBN: 9789046906484) เล่มนี้น่ารักค่ะ เป็นหนังสืออธิบายไวยากรณ์ด้วยภาพประกอบ อ่านแล้วมีโอกาสเข้าใจง่ายขึ้นกว่าการอ่านตัวหนังสืออย่างเดียวค่ะ หลายคนน่าจะชอบ และเจ้าของหนังสือเล่มนี้ก็เขามีเว็บไซต์ที่ใช้ในการเผยแพร่ความรู้ไวยากรณ์ประกอบรูปภาพด้วยนะคะ เว็บที่ว่านี้คือ https://zichtbaarnederlands.nl/ ค่ะ กลับมาที่หนังสือนะคะ เล่มนี้สามารถใช้เรียนไวยากรณ์ได้ตั้งแต่ระดับ A1-B2 เลยค่ะ โดยในเล่มจะไม่มีแบบฝึกหัดให้ เราต้องใช้รหัสเข้าไปทำแบบฝึกหัดในเว็บของเขาค่ะ แต่พิเศษสำหรับเล่มนี้ ถ้าใครไม่สะดวกซื้อหนังสือมือหนึ่ง ก็สามารถหายืมจากห้องสมุดมาอ่าน แล้วซื้อรหัสแยกต่าง ๆ เพื่อเข้าไปทำแบบฝึกหัดอย่างเดียวได้ค่ะ ราคาจะถูกกว่าหนังสือมือหนึ่งเกินครึ่งเลยค่ะ

→ หนังสือ Werkwoorden op rij – Deel 1 (ISBN: 9789077698242) และ Werkwoorden op rij – Deel 2 (ISBN: 9789077698259) สองเล่มนี้โฟกัสที่การฝึกผันและสะกดคำกริยาแบบเป็นระบบค่ะ โดยทั้งชุดจะมีทั้งหมด 3 เล่มด้วยกัน แต่สำหรับคนเริ่มเรียนถึงระดับ A2 ใช้แค่เล่มแรกกับครึ่งเล่มสองก็เพียงพอค่ะ เนื้อหาในเล่มมีแค่คำอธิบายการผันกริยาตามกาลและรูปแบบประโยคต่าง ๆ พร้อมตัวอย่างการผัน จากนั้นก็เป็นแบบฝักหัดที่มีประโยคและเว้นที่ให้เราใส่คำกริยาผันที่ถูกต้องลงไปค่ะ ในเล่มมีเฉลยให้พร้อมเลย


→ หนังสือ A practical Dutch grammar (ISBN: 978-90-5997-040-3) เล่มนี้เขียนเป็นภาษาอังกฤษนะคะ มีคำอธิบายไวยากรณ์แบบสั้นกระชับ พร้อมตัวอย่างประโยคให้ศึกษาเพิ่มเติม ตัวเล่มบางเบา ไม่มีแบบฝึกหัดอะไรให้ทำ เนื้อหาเล่มนี้ใช้เรียนได้สำหรับ A1-A2 ค่ะ แต่พิเศษสำหรับเล่มนี้ คือมีฉบับแปลภาษาไทยให้ดาวน์โหลดฟรี ที่ลิงค์นี้ค่ะ ใครสะดวกอ่านภาษาอังกฤษก็ลองหาตัวเล่มจริงมาดูได้ ส่วนถ้าใครอยากอ่านภาษาไทยก็ดาวน์โหลดมานะคะ

➤ หนังสือเสริมทักษะการเขียน 

อยากเขียนเป็นต้องทำยังไง? ฝึกเขียนค่ะ แล้วฝึกเขียนทำยังไง? ก็ต้องรู้คำศัพท์ที่อยากใช้และรู้หลักไวยากรณ์ที่จำเป็นสำหรับรูปประโยคที่อยากเขียนค่ะ นั่นคือ เราจะนำคำศัพท์มาเรียบเรียงตามกฎไวยากรณ์นั่นเอง ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้ค่ะ ไม่มีทางลัด แล้วถ้าอยากอยากจะฝึกเขียนให้ไหลลื่นดูเป็นธรรมชาติ มันก็จะมีเรื่องของการขยันอ่านตัวอย่างจากหนังสือสื่อตีพิมพ์อื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องค่ะ จะเป็นการดูตัวอย่างที่ถูกต้องและสวยงามแล้วนำมาปรับใช้ให้เขากับสไตล์ของตัวเองต่อไป และสำหรับใครที่คิดว่าแบบฝึกหัดในหนังสือเล่มหลักและหนังสือเสริมไวยากรณ์ยังไม่จุใจพอ ก็ลองหาสองเล่มนี้มาทำเพิ่มได้นะค

→ หนังสือ Schrijven in Nederland (ISBN: 9789006814651) เล่มนี้เป็นหนังสือเรียนการเขียนสำหรับระดับ 0-A1 ค่ะ เราจะได้ฝึกการกรอกข้อมูลส่วนตัวแบบง่าย ๆ การผันกริยาพื้นฐาน ฝึกแต่งประโยคเกี่ยวกับตัวเองด้วยศัพท์ที่ไม่ยากจนเกินไป ฝึกเขียนประโยคคำถามแบบต่าง ๆ และในบทท้าย ๆ เราก็จะได้นำความรู้พื้นฐานเหล่านี้ (การเขียนประโยคสั้น ๆ ง่าย ๆ) มาเขียนต่อกันให้เป็นเรื่องขนาดสั้น ข้อความมือถือ รวมถึงอีเมล เอาจริง ๆ คนที่กำลังเตรียมสอบเขียน A2 จะหามาฝึกทำเล่น ๆ ก็ได้ประโยชน์เหมือนกันค่ะ 

 

→ หนังสือ Zet het op papier 1 (ISBN: 9789006814651) เล่มนี้แนะนำสำหรับคนที่เรียน A2 มาได้สักระยะแล้วนะคะ เพราะแบบฝึกหัดจะค่อนข้างยากไปอีกขั้นนึงแต่ทำแล้วสนุกค่ะ ได้ฝึกเขียนเยอะมาก แต่ว่าไม่มีเฉลย ต้องให้ครูหรือคนที่บ้านช่วยตรวจให้ค่ะ

➤ หนังสือเสริมทักษะการพูด

สำหรับทักษะการพูด เราอาจจะแบ่งออกได้เป็นการพูดให้ชัดและคล่อง กับการพูดให้ถูกตามหลักไวยากรณ์นะคะ มาดูกันว่ามีหนังสือเล่มไหนที่พอจะช่วยเสริมในส่วนนี้ได้บ้า

→ หนังสือ Nu versta ik je! (ISBN: 9789033493171) เลือกที่เป็นปกสีฟ้า ๆ เขียนในวงเล็บว่า (Nederlandse editie) นะคะ เพราะว่าถ้าเป็นปกเดียวกันที่มีสีเขียว อันนั้นสำหรับคนเรียนดัตช์ฝั่งเบลเยี่ยมค่ะ เนื้อหาของเล่มนี้เน้นการสอนออกเสียงอย่างเดียว ไม่มีการอธิบายไวยากรณ์ โดยจะเริ่มจากให้หัดออกเสียงคำสั้น ๆ พยางค์เดียว หลายพยางค์ ประโยคสั้น ๆ ฝึกถามฝึกตอบ ฝึกพูดประโยคยาว ๆ ให้คล่องปาก ทั้งนี้ ในหนังสือฉบับเก่าจะมีซีดีแถมมาให้ค่ะ แต่ถ้าใครซื้อเล่มใหม่มาหรือยืมจากห้องสมุดแล้วไม่มีแผ่นซีดี หรือคอมที่บ้านเล่นซีดีไม่ได้แล้ว ก็เข้าไปที่เว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ได้ค่ะ เขามีให้ดาวน์โหลดฟรี เอาไว้เปิดฟัง แล้วหัดพูดตาม

→ หนังสือ Geregeld spreken (ISBN: 9789024422012) เล่มนี้สอนการพูดแบบสอดแทรกบทเรียนไวยากรณ์ค่ะ คือจะสอนพูดเรียงประโยคตามกฎไวยากรณ์ เริ่มตั้งแต่การใช้กริยาให้ถูกกับประธาน ไปจนถึงการพูดเป็นประโยคที่ต้องเรียงคำตามโครงสร้างแบบต่าง ๆ โดยเล่มนี้จะใช้ตัวเลขกำกับตำแหน่งของคำ(123-methode) ช่วยให้เราจำโครงสร้างประโยคได้ดีขึ้น และในแต่ละบทเราจะได้เรียนตามขั้นตอน 4 ขั้นตอน คือ ทำความเข้าใจ-ฝึกฝน-ลงมือปฏิบัติ-ทำซ้ำ ก็ถือว่าเป็นหนังสือที่ใช้เรียนไวยากรณ์ A1-A2 ได้แบบไม่เคร่งเครียดมาก เพราะมันจะแทรกรวมอยู่กับการฝึกพูดนั่นเองค่ะ แต่ถ้าจะใช้เล่มนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรมีคนชี้แนะหรือคู่ฝึกซ้อมนะคะ

 

→ หนังสือ Beter Nederlands Spreken (ISBN: 9789046905005) ชื่อหนังสือก็บ่งบอกอยู่แล้วนะคะว่า พูดดัตช์ให้ดีขึ้น นั่นเพราะว่าเล่มนี้จะโฟกัสที่การพูดให้ถูกไวยากรณ์และในขณะเดียวก็ต้องออกเสียงให้ชัดเจนด้วย ถ้าเราพูดออกเสียงชัดและถูกหลักไวยากรณ์ คนฟังที่เป็นเจ้าของภาษาก็จะสามารถเข้าใจเราได้ดีขึ้นค่ะ เนื้อหาในเล่มจะแบ่งออกเป็นบทเรียนที่อิงกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันค่ะ เช่น การแนะนำตัว, การซื้อของ, การหาหมอ, การทำงาน เป็นต้น ในแต่ละบทเราก็จะได้ฝึกฟังและพูดบทสนทนา เรียนคำศัพท์ และไวยากรณ์ที่สอดแทรกเข้ามา นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างประโยคและวลีที่ใช้ได้บ่อย ๆ เอาไว้สำหรับฝึกพูดให้คล่องให้ขึ้นใจ เวลาเจอสถานการณ์จริงเราจะได้นึกพูดออกมาได้เลย เล่มนี้ใช้เรียนได้ตั้งแต่ A1-B1 ค่ะ ท้ายเล่มมีตัวอย่างการสอบพูดของ B1 ให้ฝึกด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรมีคนชี้แนะและคู่ฝึกค่ะ หนังสือดีค่ะ คนเขียนคนเดียวกับเล่ม Welkom in Nederland และ Lezen, hoe doe je dat? และพิเศษอีกนะคะ สำหรับเล่มนี้ ถ้าใครไม่อยากซื้อหนังสือมือหนึ่ง ก็ซื้อแค่รหัสแยกต่างหากได้ในราคาถูกกว่าหนังสือครึ่งนึงค่ะ แล้วไปหายืมหนังสือจากห้องสมุดเรียนเอา รหัสที่ได้มานั้น จะใช้เข้าไปทำแบบฝึกหัด ดูเฉลย และดาวน์โหลดไฟล์เสียงทั้งหมดมาไว้ในคอมเราได้ค่ะ 


→ หนังสือ Taaltempo Nederlands (ISBN: 9789046902813) เล่มนี้จะโฟกัสที่การฝึกพูดโต้ตอบแบบใช้เวลาจำกัดค่ะ คือได้ยินคำถามปุ๊บ ต้องคิดเร็วแล้วตอบได้ทันที ทั้งนี้ก็เพราะนักเรียนภาษาดัตช์จำนวนมากยังมีปัญหาที่ว่า พอฟังคำถามแล้ว ใช้เวลาคิดคำตอบนานมาก จนกลายเป็นคนพูดติดขัดหรือไม่กล้าพูดไปเลย เนื้อหาในเล่มไม่มีอะไรมากค่ะ มีแต่หัวข้อฝึกที่บอกเป็นตัวย่อชนิดคำ ซึ่ง….อ่านไม่ค่อยรู้เรื่องค่ะเอาจริง ๆ ข้ามไปดูส่วนที่เป็นประโยคถาม-ตอบ แล้วฝึกได้เลยค่ะ หาคู่ฝึกด้วยนะคะ ผลัดกันถามตอบ รอบแรกอ่านได้ รอบต่อไปลองแบบไม่อ่าน พูดให้คล่องปาก


→ หนังสือ Taalpingpong (ISBN: 9789085065845) เล่มนี้มีรูปแบบการสอนเหมือนกับเล่ม Taaltempo Nederlands ค่ะ คือเน้นการฝึกพูดถาม-ตอบแบบจำกัดเวลา ฝึกพูดตอบคล่อง ๆ แต่เนื้อหาในเล่มนี้จะแบ่งหัวข้อออกเป็นสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันค่ะ จะบอกว่าทั้งสองเล่มนี้ไม่ได้ช่วยเราฝึกพูดอะไรลึกซึ้งมากนะคะ แค่ฝึกให้ตอบแบบย้อนคำถาม ฝึกเปลี่ยนประธาน เปลี่ยนรูปกริยาให้คล่อง ๆ ถาม jij ตอบ ik ถาม jullie ตอบ wij อะไรทำนองนี้ ก็ถ้าฝึกแล้วสังเกตดี ๆ เราก็จะสามารถนำหลักการนี้ไปใช้ในการดึงกริยาจากคำถามมาใช้ตอบได้ในการสอบพูดจริง ๆ ค่ะ และเหมือนกันคือต้องมีคู่ฝึกพูดค่ะ

➤ หนังสือเสริมทักษะการอ่าน

ในที่นี้จะขอแนะนำหนังสือที่ใช้ในการเตรียมสอบวิชาการอ่าน A2 เลยนะคะ เพราะเข้าใจดีว่ามีพวกเราจำนวนไม่น้อยเลย ที่ไม่เคยผ่านการเรียนภาษาอังกฤษและสอบภาษาอังกฤษแบบจริงจังมาก่อน ก็เลยทำให้การสอบอ่านที่ดูเหมือนจะง่ายสำหรับหลาย ๆ คน กลายเป็นเรื่องยากขึ้นมาค่ะ ที่เป็นเช่นนี้เพราะการสอบอ่านไม่ได้มีแค่การอ่านออกแปลได้เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของเวลาที่จำกัดในการสอบอีกด้วย การรู้เทคนิคในการอ่านเพื่อหาคำตอบในเวลาจำกัดจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องได้รับการฝึกฝน และหนังสือที่จะแนะนำต่อไปนี้สามารถช่วยเสริมในส่วนนี้ได้ค่ะ

→ หนังสือ Lezen, hoe doe je dat? (ISBN: 9789046905968) เล่มนี้เขียนโดย Marilene Gathier เจ้าของเดียวกับ Welkom in Nederland และ Beter Nederlands Spreken ทำให้มั่นใจได้ว่าเนื้อหาแน่นปึ้กและใช้ฝึกทำข้อสอบได้ดีแน่นอนค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอ่านข้อความ/บทความแบบต่าง ๆ เทคนิคการอ่านเพื่อหาคำตอบ เทคนิคการเดาคำศัพท์ และการเรียนรู้คำศัพท์ที่จำเป็นสำหรับคนเรียนระดับ A2 โดยในแต่ละบทจะมีตัวอย่างข้อความ/บทความให้อ่านพร้อมทั้งคำถามท้ายเรื่อง และเฉลยวิธีการอ่านที่ถูกต้อง เรียกได้ว่าถ้าอ่านทำแบบฝึกหัดเล่มนี้จบเล่ม เราก็จะมีความรู้ในทักษะการอ่านที่ระดับ A2 แบบสมบูรณ์ค่ะ และพิเศษสำหรับเล่มนี้นะคะ เราสามารถหายืมจากห้องสมุดมาใช้ได้ค่ะ หรือจะหาซื้อมือสองที่ราคาถูกลงหน่อยมาใช้ได้ เพราะทรัพยากรณ์ของออนไลน์ของเล่มนี้ ฟรีค่ะ

➤ พจนานุกรม

หลายคนอาจมองข้ามความสำคัญของพจนานุกรมแบบเล่มไปเพราะคิดว่ามี Google translate แล้ว ไม่ต้องใช้พจนานุกรมก็ได้ ขอบอกว่า ผิด ค่ะ เพราะในการเรียนภาษาใหม่นั้น สิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ คือการรู้คำศัพท์ให้ได้มากที่สุดค่ะ และการที่เราจะรู้คำศัพท์ได้นั้นเราก็ต้องอ่านออกเขียนสะกดคำได้และรู้ความหมายของมัน พจนานุกรมจึงมีบทบาทสำคัญในการเริ่มต้นเรียนภาษาใหม่ ๆ อย่างมากค่ะ โดยช่วงเริ่มต้นเราอาจพบว่าตัวเองต้องเปิดพจนานุกรมบ่อยมาก เปิดบ่อยจนท้อ แต่มันเป็นเรื่องธรรมดาค่ะ พอผ่านไปสักพัก เราก็จะเริ่มจำความหมายของคำศัพท์ได้ เริ่มเดาได้ และที่แน่ ๆ คือเราจะเปิดพจนานุกรมได้คล่องขึ้นค่ะ

 

→ หนังสือ Leerwoordenboek Nederlands (ISBN: 9789062834440) เล่มนี้เป็นพจนานุกรมรวมคำศัพท์พื้นฐาน แปลจากภาษาดัตช์เป็นภาษาดัตช์ เหมาะสำหรับคนที่เริ่มต้นเรียนภาษาดัตช์ค่ะ โดยคำศัพท์พื้นฐานที่ว่านี้รวบรวมมาจากหนังสือเรียนเล่มหลักหลาย ๆ หลักสูตร นั่นแปลว่า คนที่กำลังเรียน A1 และ A2 สามารถใช้พจนานุกรมเล่มนี้ควบคู่ไปกับหนังสือเล่มหลักของตัวเองได้เลยค่ะ

การจัดหน้าของเล่มนี้จะเหมือนกับพจนานุกรมทั่วไปทุกอย่างค่ะ คือ มีคำศัพท์ ที่ถ้าเป็นคำนามก็จะมีบอกคำนำหน้านามให้พร้อมทั้งรูปผันพหูพจน์ และถ้าเป็นคำกริยาก็จะบอกรูปผันตามกาลอดีตช่องสองและช่องสาม ส่วนช่องความหมายก็จะบอกเป็นภาษาดัตช์โดยใช้คำง่าย ๆ ในการอธิบายค่ะ และก็จะมีตัวอย่างประโยคที่คำ ๆ นั้นอยู่ด้วย และพิเศษสำหรับคนที่ซื้อหนังสือใช้เองนะคะ เราสามารถเขียนความหมายภาษาของเราใส่เข้าไปในช่องด้านหลังได้ด้วย 

นอกจากนี้เรายังสามารถเข้าไปใช้ทรัพยากรณ์ของเล่มนี้ได้ฟรีด้วยนะคะ ไม่ต้องใช้รหัสใด ๆ ค่ะ โดยเขาจะมีแบบฝึกหัดการฟังและออกเสียงคำที่มีหลายพยางค์ที่ออกเสียงยาก ๆ ให้เราฝึกค่ะ และก็ไฟล์ pdf สำหรับการฝึก “ทักษะการเรียนรู้” ซึ่งเขาจะสอนเราใช้พจนานุกรมแบบจับมือทำเลยค่ะ เริ่มจากการหัดเรียงลำดับตัวอักษร เทคนิคการค้นหาคำศัพท์ การอ่านพจนานุกรม เป็นต้น ซึ่งความรู้เหล่านี้อาจจะดูเหมือนไม่จำเป็น เพราะหลายคนชินกับการใช้พจนานุกรมภาษาอังกฤษมาก่อนแล้ว แต่อย่างที่บอกค่ะ คนที่ยังไม่เคยเรียนภาษาที่สองอื่น ๆ มาเลย ทักษะเหล่านี้จำเป็นมากค่ะ เรียนรู้ติดตัวไว้ ใช้ได้ตลอดค่ะ ถ้าหายืมหนังสือจากสือจากห้องสมุดมาหรือว่าซื้อมือสองมาใช้ สามารถเข้าไปดูทรัพยากรณ์ออนไลน์ของหนังสือได้ที่นี่นะคะ

 

→ หนังสือ Thematische Woordenschat Nederlands Voor Anderstaligen (ISBN: 9789054516989) เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นพจนานุกรมศัพท์หมวดหมู่ค่ะ คือเขาจะให้คำศัพท์พร้อมความหมายมาเป็นกลุ่ม ๆ ตามหัวข้อใหญ่ 24 หัวข้อซึ่งก็จะแตกย่อยลงไปอีก เช่น เรื่องงานอดิเรก(กิจกรรม, กีฬา, เกม), บ้าน(ตัวบ้าน, ภายในบ้าน, งานบ้าน), การสื่อสารและสื่อ(การสื่อสารทางไกล, ไปรษณีย์, ทีวีและวิทยุ, ภาพและเสียง, หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และหนังสือ, คอมพิวเตอร์) เป็นต้น

ด้านในมีการจัดหน้าแบบพจนานุกรมทั่วไปค่ะ มีคำนำหน้าคำนาม รูปผันพหูพจน์ รูปผันกริยา ความหมายเป็นภาษาดัตช์ และประโยคตัวอย่าง ที่ขาดไปก็จะเป็นการแบ่งพยางค์แค่นั้นเองค่ะ พจนานุกรมเล่มนี้กับเล่มก่อนหน้า ใช้เปิดอ่านเล่น ๆ ตอนเวลาว่างก็ยังสนุกเลยค่ะ

→ หนังสือ Van Dale pocketwoordenboek Nederlands als tweede taal (NT2) (ISBN: 9789460775680) เล่มนี้เป็นพจนานุกรมฉบับพกพาสำหรับคนที่เรียนภาษาดัตช์เป็นภาษาที่สอง (NT2) ซึ่งก็คือพวกเรานี่แหละค่ะ เล่มนี้เปิดอ่านเล่นน่าจะไม่ไหวค่ะ แต่เหมาะเอาไว้ใช้เวลาเรียนและเวลาสอบค่ะ สำหรับการสอบ A2 จะไม่มีการอนุญาตให้พกพจนานุกรมเข้าห้องสอบนะคะ เขาจะอนุญาตเฉพาะการสอบ B1 และ B2 ในวิชาเขียนและอ่านค่ะ และเขาก็บังคับให้ใช้แค่เล่มนี้เล่มเดียวด้วย เข้าใจว่าเล่มนี้ทำออกมาหลายฉบับแล้ว แต่อยากแนะนำให้ใช้เป็นฉบับล่าสุด ๆ หน่อยนะคะ ดูอันที่เป็นปกสีเขียว อย่างฉบับล่าสุดที่ตีพิมพ์ออกมาก็เปลี่ยนปกเป็นจักรยานสีแดงบนปกสีเขียวค่ะ

 

อยากจะแนะนำให้คนที่กำลังเรียน A2 ตอนนี้ หาพจนานุกรมเล่มนี้มาหัดเปิดใช้ตั้งแต่เนิ่น ๆ นะคะ เข้าใจว่าใช้ดิกออนไลน์มันสะดวกกว่า แต่ก็อยากให้หัดเปิดแบบตัวเล่มไว้ เพื่อที่เวลาสอบ B1 หรือ B2 ในอนาคตจะได้ชินและเปิดได้คล่อง ไม่เสียเวลาในห้องสอบค่ะ

➤ หนังสืออ่านนอกเวลา

หลังจากเรียนไวยากรณ์และจำคำศัพท์มาเยอะแล้ว ก็อย่าลืมหาเวลาบริหารความรู้ด้วยการอ่านหรือฟังสื่ออื่น ๆ นอกเหนือจากหนังสือเรียนด้วยนะคะ ในที่นี้เราจะพูดถึงหนังสืออ่านนอกเวลากัน หลายคนคงได้เริ่มหัดอ่านนิทานเด็กกันตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่นี่แล้ว ก็นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีค่ะ แต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นไปก็คือ รอให้ไวยากรณ์เราเริ่มเข้าที่ และมีศัพท์ในคลังพอสมควร แล้วค่อยลองเริ่มอ่านหนังสืออื่น ๆ ค่ะ ทั้งนี้เพื่อเป็นการทดสอบตัวเองว่าที่เรียนมานั้นเราเข้าใจมากน้อยแค่ไหน สามารถนำมาปรับใช้กับสื่ออื่นในชีวิตจริงได้แค่ไหน และถือเป็นการทบทวนคำศัพท์ไปในตัวด้วย อย่างเช่น ถ้าเราอ่านเรื่องสั้นสักเรื่อง เวลาเราเห็นประโยคหนึ่ง ๆ ลองฝึกกับตัวเองว่า คำไหนเป็นประธาน แล้วกริยาผันคือคำไหนแปลว่าอะไร เราผันกริยาคำนั้นกลับเป็นกริยารูปเต็มได้มั้ย คำนามคำนี้เป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์ คำไหนคือคำเชื่อม แล้วประโยคที่ตามคำเชื่อมมานั้นเป็น hoofdzin หรือ bijzin ในประโยคมีกริยาแยกได้มั้ย ลองอ่านไปเล่นกับตัวเองไปแบบนี้ดูค่ะ เรื่องของหนังสือนิทานคิดว่าคงไม่ต้องแนะนำมาก เราอาจจะได้รับมรดกตกทอดมาจากคนที่บ้าน หรือไปเดินห้องสมุดแล้วเลือกดูปกสวย ๆ เรื่องย่อน่าสนใจ ๆ แบบนั้นก็ได้ค่ะ เลือกอ่านสิ่งที่เราสนใจ จะช่วยให้เรามีอารมณ์ร่วมกับมันมากขึ้น แต่ที่ต้องระวังอย่างหนึ่งคือ ถ้าเราอ่านนิทานหรือนิยายสำหรับเด็กดัตช์เจ้าของภาษา เราอาจจะเจอปัญหาที่ว่า เนื้อเรื่องดำเนินด้วยกริยาอดีตช่องที่สอง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่แอดวานซ์เกินไปสำหรับคนเรียน A1-A2 ค่ะ ถ้าจะเลือกหนังสืออ่านเอง ลองดูที่เขาใช้กริยากาลปัจจุบันกับกาลสมบูรณ์ในการเล่าเรื่องมาหัดอ่านก่อนนะคะ หรือลองหาหนังสือแนะนำต่อไปนี้มาลองอ่านดูค่ะ

→ หนังสือชุด De vier seizoenen – Nederlands lezen voor anderstaligen ชุดนี้มีทั้งหมด 4 ชุดค่ะ แบ่งเป็นเรื่องสั้นที่ไล่ระดับความยากในการอ่าน จากฤดูหนาว ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ไปจบที่ฤดูใบไม้ร่วง เนื้อหาของหนังสือชุดนี้เหมาะสำหรับคนเริ่มต้นเรียนระดับ 0-A1 กลาง ๆ ค่ะ ไม่ยากจนเกินไป ที่พิเศษก็คือทางสำนักพิมพ์มีไฟล์หนังสือเสียงของชุดนี้ให้ดาวน์ฟรี ๆ ที่นี่ค่ะ ถ้าเจอที่ห้องสมุดก็ลองยืมมาอ่านได้นะคะ 


→ หนังสือ Samen lezen: oefenen met lezen van A1 naar A2 (ISBN: 9789046905487) เล่มนี้ใช้ฝึกการอ่านจากระดับ A1 ถึงระดับ A2 ค่ะ โดยจะเป็นเรื่องราวชีวิตประจำวันของผู้คนในซอย Julianastraat ซึ่งแต่ละเรื่องจะเกี่ยวข้องกับหัวข้อที่เราจะเจอได้ในการสอบ inburgering ด้วย เรียกว่าได้เราจะได้ฝึกทั้งทักษะการอ่านและเรียนรู้คำศัพท์ที่จำเป็นในการสอบ inburgering โดยเฉพาะวิชา KNM ค่ะ และรหัสที่มีมากับเล่มนี้สามารถใช้ล็อกอินเข้าไปดูเฉลยแบบฝึกหัดในเล่ม ทำแบบฝึกหัดเพิ่มเติมเพื่อขยายคลังศัพท์และเตรียมสอบเขียนและสอบพูดได้ค่ะ  

→ หนังสือ Paul & Paula A1 (ISBN: 9789490807412) และ Paul & Paula A2 (ISBN: 9789490807429) เป็นนิยายขนาดสั้นเกี่ยวกับสาวสเปนที่พบรักกับหนุ่มดัตช์ที่โรงเรียนภาษาดัตช์ ระหว่างทางความสัมพันธ์ก็มีเรื่องของการปรับตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งภาษาและวัฒนธรรม การย้ายมาอยู่บ้านเดียวกัน การเลี้ยงเด็ก การสมัครงาน ฯลฯ ทุกอย่างที่พวกเราได้เรียนเพื่อสอบ inburgering นั่นแหละค่ะ ซึ่งความฉลาดของนิยายสองเล่มนี้อยู่ตรงที่ คุณครูที่เป็นคนแต่งเรื่องนี้ เขาได้นำเอาคำศัพท์และไวยากรณ์ที่มีสอนอยู่ในหนังสือเล่มหลัก TaalCompleet A1 และ TaalCompleet A2 มาผูกกันเป็นเรื่องนี้ขึ้นมาค่ะ เดิมทีเขาแต่งเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยนักเรียนในชั้นเรียนของเขาให้จำคำศัพท์และไวยากรณ์ได้ดีขึ้น แต่ไป ๆ มา ๆ มันก็กลายมาเป็นหนังสือจริงค่ะ 

ข้อดีของนิยายสั้นสอง 2 เล่มก็คือ เนื้อเรื่องจะเล่าด้วยกริยากาลปัจจุบันค่ะ ทำให้คนที่เพิ่งเริ่มเรียนอ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย รวมถึงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนภาษา การปรับตัว การใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์ ที่สอดคล้องกับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของพวกเรา ยิ่งช่วยให้อ่านได้สนุกมากขึ้นค่ะ

หนังสือชุดนี้มีรหัสมาให้ด้วย ซึ่งเราสามารถใช้ล็อกอินเข้าไปทำแบบฝึกหัดท้ายเล่ม แบบฝึกหัดแกรมม่า และคำศัพท์ได้ รวมถึงเข้าไปฟังหนังสือเสียงได้ด้วยค่ะ 

สุดท้ายนี้ อยากให้ทุกคนพึงระลึกไว้ว่า หนังสือคือสื่อการเรียนอย่างหนึ่ง การอ่านคือการเติมความรู้ให้ตัวเอง และการเรียนคือการลงทุน ถ้าหากคิดว่ามีส่วนไหนในการเรียนที่เราต้องการตัวช่วย ก็ขอให้นึกถึงหนังสือเป็นอันดับต้น ๆ ด้วยนะคะ เพราะหนังสือเรียนและหนังสืออ่านเสริมเหล่านี้และอีกหลาย ๆ เล่มที่ไม่ได้เอ่ยถึง เกิดมาจากการออกแบบโดยทีมงานครูผู้มีประสบการณ์ ที่เขาได้คิดมาดีแล้วว่าเนื้อหาที่ใส่ไปในหนังสือนั้นจะช่วยให้คนผู้เรียนบรรลุเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อหนังสือทุกเล่มเสมอไป บางเล่มเราสามารถหายืมจากห้องสมุดมาอ่านได้ บางเล่มสามารถใช้แบบมือสองก็เพียงพอ และถ้ามีเล่มไหนที่ไม่แน่ใจว่าจะซื้อมือหนึ่งดีมั้ย อย่างที่เคยบอกค่ะ ลองหายืมมาอ่านก่อน หรือสั่งซื้อมาเลยนั่นแหละ แล้วดูว่าชอบหรือไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบก็ส่งคืนรับเงินคืนค่ะ ไม่มีอะไรซับซ้อนมาก (โดยเฉพาะถ้าสั่งซื้อจากเว็บ bol.com) 

การเรียนด้วยตัวเองให้ประสบผลสำเร็จ ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกใช้หนังสือเรียนที่เหมาะสม ซึ่งเปรียบเสมือนแผนที่นำทางการเรียนของเราให้ไปถึงจุดหมายได้โดยไม่เสียเวลานานเกินความจำเป็นค่ะ 

ไว้เจอกันใหม่ในบทความหน้านะคะ


แชร์บทความคลิกตรงนี้ได้เลยค่ะ :)

1 thought on “หนังสือเรียนภาษาดัตช์ด้วยตัวเอง สำหรับคนที่ย้ายมาอยู่ใหม่ (ตอนที่ 2)”

Comments are closed.

Shopping Cart
Scroll to Top